เสวนาหนังสือ “สุขภาพดีไม่ต้องจ่ายแพง-ปัจจัยสู่ความสำเร็จของระบบสุขภาพ”

เสวนาหนังสือ “สุขภาพดีไม่ต้องจ่ายแพง-ปัจจัยสู่ความสำเร็จของระบบสุขภาพ”

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program, IHPP) ภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ London School of Hygiene and Tropical Medicine จัดงานเสวนาหนังสือ “สุขภาพดีไม่ต้องจ่ายแพง-ปัจจัยสู่ความสำเร็จของระบบสุขภาพ” หรือ “Good health at low cost’ 25 years on – what makes a successful health system?” เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย “สุขภาพดีไม่ต้องจ่ายแพง” (Good Health at Low Cost) ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย, บังคลาเทศ, รัฐทมิฬนาดู ประเทศอินเดีย, สาธารณรัฐคีร์กีซ และเอธิโอเปีย โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ในวันอังคารที่ 24 มกราคม 2555 ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์, เซ็นทรัลเวิลด์

บทที่ 7 ในหนังสือ “สุขภาพดีไม่ต้องจ่ายแพง” ของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วทั้งหญิงและชายอายุยืนเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 20 ปี ขณะที่อัตราการตายของทารกและมารดามีแนวโน้มลดลงกว่าเดิมถึง 5 เท่า ที่สำคัญคืออัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย ลดลงต่อปีสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอีกกว่า 30 ประเทศ ซึ่งโดยรวมแล้วประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ด้านสุขภาพแม่และเด็กแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และขณะนี้กำลังมุ่งสู่เป้าหมายที่สูงกว่าที่สหประชาชาติกำหนด (MDGs Plus)

“สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ประเทศไทยกลายเป็นที่สนใจของนานาชาติ เพราะแม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีเศรษฐกิจในระดับปานกลางที่ค่อนข้างไปทางต่ำ (Lower middle income) แต่สามารถพัฒนาระบบบริการระดับปฐมภูมิ และการบริการสาธารณสุขมูลฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ ด้วยรายจ่ายสุขภาพประมาณร้อยละ 5 ของ GDP และทั้งหมดนี้แทบไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเลย”

ประเทศไทยจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของ “สุขภาพที่ดี ไม่ต้องจ่ายแพง” ที่หลายประเทศมุ่งมาศึกษาเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้หลักฐานเชิงวิชาการประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุข ทั้งระดับผู้ให้บริการในพื้นที่และนักวิชาการ ความมุ่งมั่นของภาครัฐในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ และความร่วมมือของภาคประชาสังคม รวมถึงฝีมือในการบริการของ ปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุขหลายท่าน ที่ยังเป็นแม่แบบให้กับบุคลากรรุ่นหลังต่อไป ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จหลายประการ อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเมืองและสังคมชนบทลดลง ประชาชนมีการศึกษาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง

“อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายในอนาคต ทั้งการรักษาความสำเร็จในงานอนามัยแม่และเด็กให้คงอยู่ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการป้องกันและแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับแม่และเด็กต่อไป เช่น การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมในวัยรุ่น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยว รวมทั้งปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่คุกคามสุขภาพของแม่และเด็ก หรือคนทั่วไปในสังคมอย่างรวดเร็ว ทั้งการค้าเสรีของสินค้าทำลายสุขภาพ อาหารขยะ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากร โครงสร้างครอบครัว และสังคม ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพของไทยในระยะต่อไป ต้องวางนโยบายให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลก และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการจัดการปัญหาซับซ้อน และเลือกใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำอย่างชาญฉลาด ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่มุ่งกำไรจากการค้าสินค้าและบริการสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสุขภาพแย่ แล้วยังต้องจ่ายแพง ดังที่เห็นตัวอย่างในประเทศพัฒนาแล้วบางแห่ง”

นโยบายที่ดีที่รัฐบาลควรดำเนินการต่อคือ การลงทุนในระบบบริการปฐมภูมิ ต่อด้วยนโยบายการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพที่เน้นการให้บริการในระดับชุมชน เช่น ระบบการคัดเลือกนักศึกษาจากชนบท และศึกษาในสถานบริการในพื้นที่ ระบบการปฏิบัติงานใช้ทุนภายหลังจากจบการศึกษา การให้เกียรติแก่บุคลากรสาธารณสุขดีเด่นด้วยการมอบรางวัล ระบบค่าตอบแทนการทำงานในพื้นที่ทุรกันดาน การพัฒนาระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพและตำแหน่งหน้าที่ เป็นต้น

เรื่องราวน่าสนใจทั้งหมดนี้ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “Good health at low cost’ 25 years on – what makes a successful health system?” (Download : Click Here )ที่ศึกษาวิจัยโดย London School of Hygiene and Tropical Medicine กับนักวิชาการในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บังคลาเทศ, เอธิโอเปีย, รัฐทมิฬนาดูของอินเดีย, สาธารณรัฐคีร์กีซ รวมถึงประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนทุนดำเนินการวิจัย และการจัดพิมพ์จากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

,