‘สิทธิ’ กับ การยุติความรุนแรงต่อ ‘สตรี และ ครอบครัว’

‘สิทธิ’ กับ การยุติความรุนแรงต่อ ‘สตรี และ ครอบครัว’

25 พฤศจิกายน ของทุกปี คือ วันสากลแห่งการยุติความรุนแรงต่อสตรี ตามคำประกาศขององค์การสหประชาติ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเตือนสติสังคมทั่วโลก ให้มองเห็นการกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่ควรได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขโดยเร็วที่สุด ถึงแม้จะมีการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงอยู่เนืองๆ แต่ดูเหมือนความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเฉพาะในครอบครัว ยังคงมีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ และรายการข่าวอยู่เป็นประจำ

“ความรุนแรงในครอบครัว คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสถานที่ที่เราคิดว่ามันปลอดภัยมากที่สุดและเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก และไว้ใจมากที่สุดด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นกับผู้หญิง ไม่ว่าใครก็ตาม ก็ยากที่จะบอกเล่าให้คนอื่นได้รับรู้” รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและความรุนแรงในครอบครัว

รศ.ดร.กฤตยา กล่าวต่อว่า ภรรยาถูกสามีทำร้าย เป็นอุบัติการณ์สูงสุดที่เกิดขึ้นในครอบครัวทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งการกระทำความรุนแรงในครอบครัว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชนชั้น ทุกระดับการศึกษา อาชีพ โดยสถิติจากการเก็บข้อมูล ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมฯ ในรอบ 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2540-2552 เป็นจำนวน 1 ใน 4 ของข่าวทั้งหมด พบประมาณ 6,000 กว่าข่าว ที่เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรง และประมาณ 64 % เป็นการกระทำความรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิต

การกระทำความรุนแรงต่อหญิงอันเป็นที่รัก ถือเป็นกระบวนการที่ผู้ชายต้องการควบคุมคู่รักของตัวเอง เริ่มต้นจากการสร้างความตรึงเครียดเพื่อที่จะทำร้ายทางจิตใจ การกักขังหน่วงเหนี่ยว และเริ่มทำร้ายด้านจิตใจ ร่างกายและทางเพศตามมา

“เมื่อเกิดการทำร้ายกันแล้ว มีการขอโทษและปรับความเข้าใจกัน การเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่ก็จะตามมา แต่เมื่อความรุนแรงเคยเกิดขึ้นในครอบครัวแล้ว แน่นอนว่า มีโอกาสที่เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า อยู่อย่างนั้นจนกลายเป็นวงจรความรุนแรงไม่รู้จบ” รศ.ดร.กฤตยากล่าว

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร แสดงทัศนคติที่มีต่อความรุนแรงว่า เราอาจต้องมองวงจรของความรุนแรงแบบรอบด้าน และมองให้เห็นถึงความเชื่อต่างๆ อย่างเช่น ต้องเป็นภรรยาที่ดี ต้องอดทนเพื่อรักษาครอบครัวไว้ไม่ให้แตกแยก สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนโซ่ตรวนพันธนาการชีวิตไว้ และยิ่งตอกย้ำความรุนแรงในครอบครัวให้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญ จนนำไปสู่ความสูญเสีย ผู้หญิงจึงต้องมีความตระหนักต่อการถูกทำร้ายซ้ำ และเดินออกมาจากความรุนแรงด้วยความกล้า เชื่อมั่น และมีสติ

ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า หนึ่งวิธีการสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรง นั่นคือ กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว อย่าง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550’ โดยกฎหมายและผู้ใช้กฎหมายเน้นการแก้ไขที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างสัมพันธ์ที่ดีของสามี ภรรยา และรักษาสถาบันครอบครัว

“และในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการยุติธรรม ต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในครอบครัวเสียก่อน และควรให้ผู้หญิงเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการ ‘ตัดสินใจ’ ว่าพร้อมจะกลับมาคืนดีกันจริงๆ โดยไม่ถูกทำร้ายซ้ำ พร้อมทั้งควรจะคุ้มครองผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำอย่างแท้จริงให้เหมาะสม”

ดังนั้น ประเด็นการยุติความรุนแรงของสตรีวันนี้ นอกเหนือจากคำนึงถึงการนำกฎหมายเข้ามาใช้และช่วยเหลือแล้ว การปลูกฝังจิตสำนึกในใจ ‘คน’ ก็น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องสร้างความตระหนักให้มากว่า

…ไม่เคยมีปัญหาใด แก้ไขสำเร็จลงได้ด้วยความรุนแรง…

เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

,